|หน้าแรก| |เกี่ยวกับเรา| |ติดต่อทีมงาน| |แจ้งปัญหาการใช้งานแจ้งปัญหาการใช้งาน|
Login
 
!!! ยินดีต้อนรับสมาชิกทุกท่านเข้าสู่เว็บบอร์ด www.classicamulet.com !!!

หน้าแรก » ประวัติพระเครื่อง » ประวัติของ สมเด็จพระปิลันทร์ วัดระฆังโฆสิตาราม

ไปยังหน้า
ประวัติของ สมเด็จพระปิลันทร์ วัดระ
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ประวัติของ สมเด็จพระปิลันทร์ วัดระฆังโฆสิตาราม
 โพสต์ วันเวลา: 2014-06-04 12:44:54 
สถานะ:
รูปสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: 2011-05-06 00:00:00
สร้างกระทู้: 500
ตอบ: 3608

ประวัติพระปิลันท์ วัดระฆังฯ

.....จะขอกล่าวประวัติโดยย่อของเจ้าพระคุณหม่อมเจ้าพระสมเด็จฯ องค์นี้สักเล็กน้อย เพื่อรู้เรื่องคำว่า “ปิลันท์” 
เมื่อผู้เขียนเป็นเด็กยังไม่ได้บวชเณร เคยได้ฟังมาจากโอษฐของหม่อมเจ้าหญิงสืบ พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์(พระองค์เจ้าเกต) รับสั่งเล่าถึงเรื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) แล้วเลยรับสั่งถึงหม่อมเจ้าพระสมเด็จพุฒาจารย์ (ทัด เสนีวงศ์) ต่อไปให้พวกผู้ใหญ่ฟัง ซึ่งผู้เขียนก็ฟังอยู่ในที่นั้นด้วยเพราะมีหน้าที่คอยตำหมากถวาย รับสั่งเล่าว่า “เจ้าพระทัดนี้เป็นเจ้าวังหลัง รูปร่างขี้ริ้ว มีพี่ชายชื่อเจ้าพยอม บวชอยู่วัดบางหว้า เป็นท่านเจ้าฯ พี่พระสังวรประสาท” จะลำดับถ้อยคำของเสด็จฯ จำไม่ได้จะเขียนเอาแต่ความที่ท่านรับสั่ง พอได้เค้าต่อเนื่องกันเท่าที่จำได้ ความว่า หม่อมเจ้าพระสมเด็จฯ องค์นี้ เมื่อเป็นฆราวาสได้ไปสู่ขอกุลสตรีผู้หนึ่ง บิดามารดาทางฝ่ายหญิงเขาติว่าขี้ริ้วและเป็นเจ้าจนๆ อายุมากแล้วเสียพระทัยจึงออกผนวชเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใครจะเป็นพระอุปัชฌาย์สืบไม่ได้ ทราบแต่ว่าเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมื่อครั้งยังเรียกกันว่าพระมหาโต เปรียญหก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วมาประทับอยู่วัดระฆังฯ ทรงเล่าเรียนภาษาบาลีกับพระอาจารย์มหาโตแต่ผู้เดียว จนถึงสอบไล่ได้เป็นเปรียญ ๗ ประโยค เมื่อเจริญด้วยพระชนมายุพรรษา จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระพุทธบาทปิลันท์

อันนามสัญญาบัตรที่พระพุทธบาทบิลันท์นี้ เป็นสมณศักดิ์ที่สงวนเฉพาะแต่พระราชวงศ์ ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์ขึ้นไป ถ้าเป็นพระภิกษุสามัญชนย่อมไม่พระราชทานสมณศักดิ์ที่เหล่านี้ 
สมณศักดิ์ที่สงวนไว้สำหรับราชวงศ์นั้นมีดังนี้คือ 
๑. ราชานุพัทธมุนี (สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ม.ร.ว. เจริญ อิศรางกูร) สมเด็จพระอุปัฌาย์ของผู้เขียน เมื่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญ ก็ได้รับพระราชทานที่พระราชานุพัทธมุนี 
๒. ศรีวราลังการ 
๓. สังวรประสาท 
๔. พุทธบาทปิลันท์ 
เมื่อปีที่หม่อมเจ้าพระทัด เสนียวงศ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระพุทธบาทปิลันท์นั้น ท่านจึงได้คิดสร้างพระผงใบลานเผา โดยขอให้สมเด็จพระอาจารย์ของท่านร่วมมือช่วยสร้างด้วย จึงเรียกพระนี้ว่าพระสองสมเด็จมาแต่โบราณกาล

ที่เรียกว่าพระปิลันท์นั้นก็เกิดจากผู้เขียนเอง เรื่องมีอยู่ว่าในเวลานั้นโยมป่วยอยู่ที่ศาลาการเปรียญ ผู้เขียนต้องไปอยู่ที่ศาลาการเปรียญ เพื่อพยาบาลไข้ วันหนึ่งเข้าไปตัดใบตองที่บริเวณพระอุโบสถ เพื่อทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง กำลังนั่งเลื่อยใบตองอยู่ สามเณรรูปหนึ่งวิ่งเข้ามาหาใกล้ๆ ในมือทั้งสองข้างมีพระอยู่เต็มทั้งสองฟายมือสามเณรพูดว่ามหาเอาพระบ้างไหม ด้วยความไม่สนใจ จึงร้องบอกไปว่า “ข้าไม่เอา” สามเณรก็ยังคงพูดว่า “เอาน่า” เมื่อสามเณรเห็นว่าไม่เอาจึงเดินกลับเอาพระสองฟายมือนั้น ไปกองไว้บนแท่นหิน ซึ่งมีอยู่ตรงที่ที่สร้างหอไตร ฯ เดี๋ยวนี้ เมื่อเลื่อยใบตองม้วนมัดเสร็จแล้ว จึงเดินไปดูเห็นพระเจดีย์ที่มุมกำแพงโบสถ์ ตรงกับกุฏิพระครูสังฆ์รักษ์ประทีป เดี๋ยวนี้ถูกเจาะเอาออกเป็นช่องกว้าง พระถูกโกยออกมาข้างนอกมากมายังอยู่ในพระเจดีย์อีกก็มาก มีพระภิกษุและสามเณร ๓-๔ รูปนั่งเลือกเก็บเอาแต่พระที่เรียบร้อยไม่หักไม่บิ่น และนึกรู้ทันที่ว่าผู้ที่เจาะเป็นคนแรกเขาไม่ได้ต้องการพระ เขาต้องการของมีค่าที่ผู้สร้างพระเจดีย์มักเอาบรรจุไว้ เมื่อรู้เห็นดังนั้นแล้วก็เดินกลับโดยไม่ได้แต่ต้องพระเลย กลับมาพบพระที่สามเณรเอากองไว้ที่แท่นหิน นึกว่าจะเรี่ยราดทุเรศ จึงทำชายพกให้โตแล้วกอบพระใส่ไว้ในพกกลับศาลาการเปรียญ เก็บใบตองเรียบร้อยแล้วเกิดอยากรู้ขึ้นมาว่าเป็นพระอะไร จึงเอาพระไปหาท่านเจ้าคุณเฒ่าคือ ท่านเจ้าคุณพระธรรมถาวรนั่นเอง และเรียนถามท่านว่าหลวงปู่นี่พระอะไร พอท่านรับไปดูท่านออกอุทานว่าอ๋อ พระพุทธบาทปิลันท์นั่นเอง เมื่อรู้แล้วกลับมาใครถามว่าพระอะไร ก็บอกเขาไปว่าพระพุทธบาทปิลันท์ ตามคำบอกเล่าเจ้าคุณเฒ่า ต่อมาคำว่า “พุทธบาท” หายไปคงเหลือเรียกว่าปิลันท์ จึงเรียกกันว่าพระปิลันท์มาจนบัดนี้ ตามความเป็นจริงแล้วท่านเจ้าคุณเฒ่าท่านเรียกว่าพระพุทธบาทปิลันท์เป็นการเรียกชื่อตามสมณศักดิ์ของท่านผู้เป็นต้นคิดสร้างไว้ต่างหาก หาได้มีใครตั้งชื่อตั้งเสียงพระแต่อย่างใดไม่

หม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันท์นี้ ท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นลำดับจนถึงเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ แทนสมเด็จฯอาจารย์ของท่าน 
สำหรับพระปิลันท์ที่แตกออกมาจากพระเจดีย์นั้นท่านเจ้าพระคุณธรรมทานาจารย์ (แนบ สิงหเสนี) ซึ่งอยู่ที่หอไตรฯ ในสระ ท่านเป็นเจ้าคณะและควบคุมดูแลในพระอุโบสถ เมื่อท่านทราบว่าพระแตกออกจากพระเจดีย์ ท่านจึงให้พระมาเก็บรวบรวมเอาขึ้นไปไว้บนหอไตรฯ ทั้งหมด และจะเป็นในปีนั้นหรือปีต่อมาจำไม่ได้ เกิดสงครามอินโดจีน ท่านเจ้าคุณพระธรรมทานาจารย์ยังได้เอาพระปิลันท์เหล่านี้ใส่ถุงไปมอบให้แก่กระทรวงกลาโหม เพื่อแจกจ่ายแต่ทหารที่จะไปปฏิบัติราชการในสนาม

ฉะนั้น เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน ไม่ปรากฏว่าพระอาจารย์รูปใดได้สร้างพระเครื่องในสมัยนั้น มีผู้สร้างบ้าง ก็คือท่านเจ้าคุณธรรมทานาจารย์ แต่ก็สร้างก่อนได้พระปิลันท์ สร้างจากพระผงหักๆ แตกๆ ที่ได้จากพระเจดีย์ที่ถูกเจาะซึ่งอยู่ใกล้ต้นโพธิ์ทางทิศตะวันตก เดี๋ยวนี้เป็นหมู่บ้านไปหมดแล้ว จะเขียนต่อไปอีกเรื่องยืดยาวนัก จึงขอยุติเรื่องพระปิลันท์ไว้เพียงเท่านี้ ฯ

ป.ล. ในหนังสือพระหลายๆเล่มจะมีความเห็นแยกเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายแรกว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯโตช่วยสร้าง อีกฝ่ายก็ว่าสร้างหลังจากสมเด็จฯท่านมรณภาพแล้วอย่างเช่น หนังสือคุณประชุมบอกว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ ก็ไม่ทราบว่าท่านได้ข้อมูลจากที่ไหน 
แต่จากหนังสือเล่มนี้ท่านเขียนว่า สร้างเมื่อได้รับพระราชทานเป็นพระราชาคณะที่พระพุทธบาทปิลันท์ ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯโตยังอยู่ ผมเชื่อว่าท่านต้องมีส่วนช่วยสร้างพระอย่างแน่นอน และท่านเจ้าคุณธรรมถาวรก็เป็นลูกศิษย์สมเด็จฯโตอีกองค์หนึ่งที่รู้เห็นการสร้างพระปิลันท์ 
ถ้าใครหาพระสมเด็จไม่ได้ก็ใช้พระปิลันท์นี่ล่ะครับแทนได้เลย   

 

cr. กระฉ่อนพระเครื่อง

 
 ส่งข้อความส่วนตัว

cron
© 2008 www.classicamulet.com